วันพืชมงคล 2568 ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีพืชมงคล มีอะไรบ้าง มาอ่านประวัติวันพืชมงคล พิธีแรกนาขวัญ พร้อมอ่านคำพยากรณ์ปีนี้พระยาแรกนาเสี่ยงทายได้ผ้านุ่งยาว 5 คืบ ส่วนพระโคกิน น้ำ-หญ้า-เหล้า ทำนายว่าปริมาณน้ำจะพอเหมาะ พืชผลทางการเกษตรจะอุดมสมบูรณ์ และเศรษฐกิจรุ่งเรือง
หากเอ่ยชื่อ วันพืชมงคล หรือภาษาอังกฤษว่า Royal Ploughing Ceremony แล้ว วันนี้ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ ที่หลายคนจะได้พักผ่อนอยู่บ้าน
แต่จะมีสักกี่คนรู้รายละเอียด รู้ความหมาย หรือรู้ความเป็นมาเป็นไปของ “วันพืชมงคล” อย่างแท้จริง เอาเป็นว่าเราไปเจาะลึกประวัติและความเป็นมาของ “วันพืชมงคล“ กันดีกว่า…
วันพืชมงคล หมายถึงอะไร ?
วันพืชมงคล คือ วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ
เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
โดยการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ซึ่งพระราชพิธีนี้จะกระทำที่ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีพืชมงคล
เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 และถือเป็นวันเกษตรกรด้วย โดยพระราชพิธีพืชมงคลจะมีการทำขวัญเมล็ดพืชพรรณต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว
ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ
มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย และให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ วันไถหว่าน อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยพิธีเริ่มต้นด้วยการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว
มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่าบัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
ประวัติวันพืชมงคล
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี
ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง
เป็นแต่เพียงเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน
แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์
และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์
และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง
เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ
จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง โดย 2 อย่างแรกที่ว่า “อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง“ ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า “บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง” ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์
ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ได้ว่า พิธีแรกนาขวัญมุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร
เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา
อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้นเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย
ส่วนวันประกอบพิธีนั้นต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น
แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์
แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน
เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา
เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว
สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี
และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมทำที่ทุ่งนาพญาไท
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่
จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน
และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

ภาพจาก Satin / Shutterstock.com
การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก
มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง
แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว และยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา
บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าฯ
ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล
โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ
ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี
เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ
พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง
พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ระดับ 3-4 คือขั้นโทขึ้นไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ทูตานุทูต และประชาชน มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก
สำหรับการประกอบพิธีนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ก็จะมีการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และแล้วพระยาแรกนาก็จะทำการเลือกผ้า 3 ผืนที่มีความยาวต่างขนาดกันตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืนนี้จะดูคล้ายกัน
ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุด ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย
ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุด ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก
และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่า มีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ
หลังจากสวมเสื้อผ้าที่เรียกว่า “ผ้านุ่ง” เรียบร้อยแล้ว
พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง
ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้งสี่ ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก
นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวน พร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน
เมื่อเสร็จจากการไถแล้ว พระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ
เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำ และเหล้า
ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น
เมื่อเสร็จพิธีแล้วประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา
เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง
ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน
เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์
สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญจะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี พระโคที่ใช้ในพระราชพิธีจะต้องมีลักษณะที่ดี ขาดเกินไม่ได้ คือ หูดี ตาดี แข็งแรง
เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน
ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียง 2 สีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง
และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้น โดยต้องผ่านการ “ตอน” เสียก่อนด้วย
อนึ่ง
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้
เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร
และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคล รวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ภาพจาก topten22photo / Shutterstock.com
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 นั้น มีรายละเอียดผู้ที่ทำหน้าที่ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 ดังนี้
– ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร
– เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และนางสาวอภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
– ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย
– พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
– พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล
ในส่วนของการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพรรณพืช ซึ่งนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ นั้น ทางกรมการข้าวได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2567 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประกอบด้วย
– พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 5 พันธุ์ (ขาวดอกมะลิ 105, กข 79, กข 85, กข 99 (หอมคลองหลวง 72) และกขจ 1 (วังทอง 72))
– พันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ (กข 6 และ กข 24 (สกลนคร 72))
เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 4,880 กิโลกรัม และจัดเป็นพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานบรรจุในซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรต่อไป
วันพืชมงคล 2568 พระโคกินอะไร คำทำนายแปลว่าอะไร
สำหรับวันพืชมงคล 2568 ในพิธีแรกนาขวัญปีนี้ พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้านุ่ง ได้ผ้ายาว 5 คืบ ส่วนพระโคทั้งสองพระนามพระโคพอและพระโคเพียง ได้เลือกกินเพียงสามอย่างจากเครื่องเสี่ยงทั้งเจ็ด นั่นคือ น้ำ หญ้า และเหล้า ซึ่งคำพยากรณ์ทำนายดังนี้
พระยาแรกนา เสี่ยงทายผ้าสำหรับนุ่งไปประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เสี่ยงผ้านุ่งปีนี้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
พระโคเสี่ยงทาย
– กินน้ำ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี
– กินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง
ทั้งนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 ในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ท่านยังสามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ที่เว็บไซต์ https://rice.moac.go.th หรือสแกน QR Code ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2568
บทความวันสำคัญที่เกี่ยวข้อง