
รายงานเผยว่า ระหว่างที่สแตนลีย์อยู่ชั้นมัธยมปลาย เขาทำเกรดเฉลี่ยได้ดีเยี่ยม และยังทำคะแนน SAT ได้มากกว่า 1,590 คะแนน ทำให้เขาจัดอยู่ในกลุ่มหัวกะทิ ท็อป 1% ของสหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมุ่งมั่นที่จะศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ พร้อมใช้เวลาว่างในการก่อตั้งธุรกิจชื่อ Rabbit-Sign ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ด้วยความสามารถระดับนี้ใครก็คงคิดว่าเส้นทางการศึกษาของเขาคงดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ในปี 2566 สแตนลีย์ ยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย 18 แห่ง แต่กลับถูกปฏิเสธจาก 16 สถาบัน รวมถึงสถาบันชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และสถาบันอื่น ๆ ทำให้ชายหนุ่มกับพ่อไม่พอใจอย่างมาก
ครอบครัวจง เชื่อว่าเด็กหนุ่มถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในกระบวนการรับเข้าศึกษา และตัดสินใจยื่นฟ้องสถาบันหลายแห่งต่อศาลระดับรัฐบาลกลาง โดยผู้เป็นพ่อยังชี้ว่า “ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะสนใจ ว่ากำลังสร้างความเสียหายให้เด็ก ๆ เหล่านี้มากแค่ไหน”
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทางครอบครัวเลือกจะต่อสู้คดีนี้ ยังเป็นเพราะครอบครัวจงมีลูกชายอีกคนที่อายุ 16 ปี ซึ่งกำลังกังวลหนัก เกี่ยวกับสิ่งที่อาจต้องเผชิญในกระบวนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย
ขณะนี้คู่พ่อลูก ได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแล้ว ด้วยเอกสารคำร้อง 291 หน้า ในคำฟ้องระบุว่า สแตนลีย์ จง ได้รับข้อเสนอให้ร่วมงานกับ Google ในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาเอก หรือประสบการณ์เทียบเท่า แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาที่สถาบันในเครือของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่หลาย ๆ เมืองก็ตาม
“การที่ข้อเสนอตำแหน่งงานของ Google มาถึงหลังถูกมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียปฏิเสธ หมายความว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อาจเล็งเห็นว่าทาง Google จะยอมรับว่าทักษะของสแตนลีย์เทียบเท่าระดับปริญญาเอกแล้ว แต่ประเด็นหลักยังอยู่ที่ ผลงานทางเทคนิคที่ระบุไว้ในสมัครที่ยื่นกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เหมือนกันอย่างมากกับที่ส่งไปยัง Google” หนาน จง กล่าว
สิ่งที่สแตนลีย์ต้องเผชิญนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของรูปแบบการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ต่อนักเรียนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ของสถาบันดังกล่าว แม้การนำเรื่องเชื้อชาติมาพิจารณาในกระบวนการรับสมัครนักศึกษา จะขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม
ขณะนี้ครอบครัวจง กำลังเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ระบุจำนวน และขอให้มีการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน รวมทั้งกล่าวหากระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ ว่าไม่ได้ดำเนินการต่อการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของระบบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้พวกเขายังยื่นฟ้องคดีในลักษณะเดียวกัน ต่อมหาวิทยาลัยวอชิงตันและมหาวิทยาลัยมิชิแกนด้วย โดยมีรายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของพนักงานศาล
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังคงปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลจาก Daily Mail, Sin Chew