คนงานเล่านาที คานทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ถล่ม ด้านนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ สันนิษฐานสาเหตุ
จากอุบัติเหตุ สะพานยกระดับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง ที่กำลังก่อสร้าง พังถล่มลงมาทับด่วนระดับที่ 1 ซึ่งเป็นทางสัญจรหลักมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ในพื้นที่ย่านพระราม 2 มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น
อ่านข่าว : คานทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ถล่ม พระราม 2 ระทึกอีก ดับแล้ว 5 – เจ็บ 27
วันที่ 15 มีนาคม 2568 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พนักงานขับรถปูนคนหนึ่ง ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า ในช่วงเกิดเหตุ หน้างานอยู่ระหว่างการเทคานปูนเชื่อมต่อระหว่างเสาตอม่อ แต่ในระหว่างนั้นได้ยินเสียงดังของโครงสร้าง ก่อนที่จะพังถล่มลงมา
โครงสร้างที่พังถล่มลงมาทำให้ทางด่วนระดับที่ 1 ซึ่งเป็นทางสัญจรหลักในพื้นที่เขตบางมดบางขุนเทียนและเขตจอมทอง ใช้เส้นทางนี้มุ่งหน้าเข้าสู่กลางเมืองกรุงเทพฯ ถูกโครงสร้างพังถล่มลงมาตัดขาดไม่สามารถสัญจรได้ เช่นเดียวกับถนนจอมทองบูรณะ ที่อยู่บริเวณตรงจุดเกิดเหตุไม่สามารถสัญจรได้ทุกช่องทาง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อค้นหาและกู้ภัย
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์พังถล่มของโครงสร้าง ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 ว่า ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุของการพังถล่มระหว่างก่อสร้าง แต่เท่าที่ประเมินจากภาพถ่าย พบว่า เป็นการพังถล่มของคานขวาง (Cross beam) ที่หัวเสา พังถล่มลงมาหลายช่วงต่อเนื่องกัน ซึ่งความยาวพาดช่วงถือว่ายาว (long span) สาเหตุที่พังถล่มยังไม่ทราบแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้น 3 ข้อ
กิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างการถล่ม น่าจะเป็นขั้นตอนการเทคอนกรีตคานขวาง
หรือ เป็นกิจกรรมใด ที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อโครงสร้าง หากเป็นการเทคอนกรีต
ก็จะถือว่ามีน้ำหนักกระทำต่อโครงสร้างมาก ก็อาจเป็นสาเหตุให้ถล่มได้
หากโครงสร้างที่รองรับไม่แข็งแรงพอ
2.
โครงถักเหล็กที่รองรับคานขวาง พังถล่มลงมาด้วย
จึงต้องไปตรวจสอบกำลังรับน้ำหนักของโครงถักเหล็ก
รวมทั้งรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนของโครงถักเหล็ก
ว่าเพียงพอต่อการรับน้ำหนักหรือไม่ หรือ
มีการสูญเสียเสถียรภาพในการรับน้ำหนักได้อย่างไร
3.
จุดยึดของโครงถักเหล็กกับเสาตอม่อ มีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้
เป็น 3 ประเด็นที่ตั้งเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น และจะต้องไปดูแบบก่อสร้าง
การออกแบบ และขั้นตอนการทำงาน พร้อมทั้งรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
ว่ามีความแข็งแรงได้มาตรฐานทางวิศวกรรมหรือไม่
โดยจะต้องมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสาเหตุการพังถล่มในเชิงวิศวกรรมต่อไป
ในขณะนี้ คงต้องระงับการก่อสร้างไปก่อน
จนกว่าจะได้สรุปผลการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NBT Connext
ภาพจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ภาพจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย