เปิดปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดแปลกตา ลาวาสีน้ำเงิน เปลวเพลิงสีฟ้าที่ปะทุขึ้นมาจากปล่องภูเขาไฟ เบื้องหลังความงดงาม แท้จริงแฝงด้วยอันตราย

เรามักคุ้นตากับลาวาสีแดงเพลิง ซึ่งเป็นของเหลวที่ถูกพ่นออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟหลังจากเกิดการระเบิด แต่ภูเขาไฟบางพื้นที่ในโลกสามารถเกิดปรากฏการณ์สุดแปลกตาที่เรียกว่า “ลาวาสีน้ำเงิน” โดยจะมองเห็นเป็นเปลวเพลิงสีฟ้าเปล่งประกายในเวลากลางคืน ชวนให้ดูงดงามอย่างน่าพิศวงโดยไม่ได้ต้องใส่ฟิลเตอร์
ภูเขาไฟคาวาห์ อิเจน หรือ คาวาอีเจี้ยน (Kawah Ijen) เป็นภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัยทั่วโลกที่จะได้ไปสัมผัสความอัศจรรย์แห่งธรรมชาติ 2 รูปแบบ ได้แก่ ทะเลสาบกำมะถันสีเทอร์ควอยซ์ที่สวยงามแต่แฝงอันตราย เพราะมีความเป็นกรดสูง และปรากฏการณ์ “ลาวาสีน้ำเงิน”

ลาวาสีน้ำเงิน
แม้จะเรียกว่าลาวาสีน้ำเงิน แต่แท้จริงแล้วแสงสีฟ้าที่เห็นไม่ใช่ลาวา แต่เป็นแสงจากกำมะถันที่เกิดการเผาไหม้ (Burning Sulfur) หรือเรียกได้ว่า เพลิงกำมะถัน ทำให้มองเห็นเปลวไฟสีฟ้าเรืองแสงพวยพุ่งจากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งจะเห็นได้เฉพาะในเวลากลางคืนที่มืดมิด
โดยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือก๊าซกำมะถัน ซึ่งเกิดจากธรรมชาติและการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน หรือซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นส่วนประกอบ จะออกมาจากรอยแตกร้าวของภูเขาไฟ ภายใต้ความกดอากาศและอุณหภูมิสูงถึง 600 องศาเซลเซียส เมื่อก๊าซสัมผัสกับอากาศจะเกิดการลุกไหม้และพุ่งสูงขึ้นไปถึง 5 เมตร
ในขณะที่ก๊าซบางส่วนเกิดการควบแน่น (Condensation) แปรสภาพเป็นกำมะถันเหลว ซึ่งยังคงมีการเผาไหม้ต่อไป จะไหลลงมาตามเนินและแนวลาดชันของภูเขาไฟ ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนลาวาไหลนั่นเอง

ปรากฏการณ์แปลก
ลาวาสีน้ำเงินถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก
เนื่องจากต้องเป็นภูเขาไฟที่มีปริมาณก๊าซกำมะถันปล่อยออกมาสูงมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่มีความร้อนสูง
ประกอบกับมีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้
โดยเมื่อก๊าซที่เผาไหม้เย็นลงจะปล่อยกำมะถันลงมาโดยรอบ
ซึ่งถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่อันตรายไม่ควรเข้าใกล้
ขอบคุณข้อมูลจาก National Geographic